

สืบเนื่องจากการประชุม World Meteorological Congress ครั้งที่ 19 (WMO Cg-19) ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2566 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization :WMO) ได้รายงานสถานีตรวจวัดที่มีการตรวจวัดมาอย่างยาวนาน (Recognized as Long-Term Observation Station) ซึ่งการตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่ต่อเนื่องและยาวนานนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ของมนุษยชาติที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของข้อมูลอ้างอิงถึงการผันผวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากความสำคัญดังกล่าว WMO จึงได้มีการสดุดีสถานีที่มีการตรวจวัดต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 100 ปี ภายใต้ชื่อที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า recognizing Centennial Observing Stations หรือสถานี 100 ปี แห่งการจดจำ เพื่อส่งเสริมการตรวจวัดข้อมูลที่มีคุณภาพสูงที่ต่อเนื่องยาวนานและยั่งยืน ซึ่งเกณฑ์ในการคัดเลือกของ WMO คือต้องเป็นสถานีตรวจวัดที่ทำหน้าที่อย่างน้อย 100 ปี โดยมีการตรวจอย่างน้อย 1 องค์ประกอบ และยังทำงานอยู่จนถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัล สถานีตรวจวัดจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานของ WMO (WMO-No. 1160 และWMO-No.8) นอกจากนี้ สถานีตรวจวัดจะต้องมีการจำแนกตามที่กำหนดไว้ในเอกสาร Guide to Instruments and Methods of Observation (WMO-No.8) ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องแบ่งปันข้อมูล Metadata โดยแนบมากับการจำแนกประเภทของสถานีตรวจวัด (ปัจจุบันคือระบบ OSCAR) หรือมีแผนการดำเนินงานในการจำแนกสถานีตรวจวัด สำหรับสถานีตรวจวัดที่ทำหน้าที่เป็นเวลา 250 ปี ได้แก่ ปักกิ่ง ประเทศจีน (ปี 1724) Downtown Charleston ประเทศอเมริกา (ปี 1738) Kremsünster ประเทศออสเตรีย (ปี 1762) และ Osservatorio Astronomico di Brera-Milano ประเทศอิตาลี (ปี 1763) สถานีตรวจวัดที่ทำหน้าที่ก่อนปี 1800 ได้แก่ สถานี Oxford ประเทศอังกฤษ (ปี 1772) สถานี Budapest ประเทศฮังการี (ปี 1780) สถานี Prague-Klementinum ประเทศเช็ก (ปี 1775) สถานี Roma Collegio Romano ประเทศอิตาลี (ปี 1787) สถานี Osservatorio Astronomico de Palermo ประเทศอิตาลี (ปี 1791) และสถานี Nungambakkam อินเดีย (ปี 1792) สำหรับประเทศไทยนั้น สถานีที่ได้รับการสดุดีจาก WMO มีอยู่ด้วยกัน 3 สถานี จากจำนวน 291 สถานีทั่วโลก และ 64 สถานีในทวีปเอเชีย ได้แก่ สถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ สถานีอุตุนิยมวิทยากาญจนบุรี และสถานีอุตุนิยมวิทยาอุบลราชธานี ซึ่งทั้ง 3 สถานีได้มีการดำเนินการตรวจวัดต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2454 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 112 ปี โดยทั้ง 3 สถานีของประเทศรับมอบรับรางวัลดังกล่าว ในปี 2561