ลักษณะอากาศทั่วไป
08 ก.ค. 2568รูปภาพ:
แผนที่อากาศ
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน บึงกาฬ สกลนคร นครพนม จันทบุรี และตราด ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
อนึ่ง พายุโซนร้อน “ดานัส” บริเวณทะเลจีนตะวันออก มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งด้านตะวันออกของประเทศจีนตอนกลางในช่วงกลางคืนของวันนี้ (8 กรกฎาคม 68) และคาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย และไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย แต่จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น
พยากรณ์อากาศกรุงเทพฯ และปริมณฑล
06:00 น. วันนี้ - 06:00 น. วันพรุ่งนี้
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ออกประกาศ 08 กรกฎาคม 2568 18:00
สภาพอากาศรายจังหวัดเพิ่มเติม
อากาศ 7 วัน ข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 8 - 14 กรกฏาคม พ.ศ. 2568คาดหมาย
ในช่วงวันที่ 8 – 9 และ 13 - 14 ก.ค. ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่วนในช่วงวันที่ 10 – 12 ก.ค. ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางพื้นที่ เนื่องจากจะมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน ภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศจีนตอนใต้จะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านในบริเวณดังกล่าว ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
สำหรับคลื่นลมในช่วงวันที่ 8 – 12 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 13 – 14 ก.ค. คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อนึ่ง พายุโซนร้อน “ดานัส”บริเวณทะเลจีนตะวันออก มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกของประเทศจีนในช่วงวันที่ 8 - 9 กรกฎาคม และจะค่อยๆอ่อนกำลังลงตามลำดับในระยะต่อไป โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย
สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง
ออกประกาศ 08 ก.ค. 2568
อากาศ 7 วัน ที่ผ่านมา
30 มิถุนายน 2568 - 6 กรกฎาคม 2568คาดหมาย
ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 1 ก.ค. จากนั้นมีกำลังแรงขึ้นและเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค. อีกทั้งมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบนในช่วงปลายสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝน โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีรายงานน้ำท่วมและดินถล่มในบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้มีฝนตกหลายพื้นที่ ส่วนมากทางฝั่งตะวันตกของภาค
ออกประกาศ 07 ก.ค. 2568
ข้อมูลย้อนหลัง
อากาศรายเดือน
กรกฎาคม 2568คาดหมาย
ช่วงต้นและกลางเดือน ปริมาณและการกระจายของฝนยังคงมีน้อย โดยจะมีฝนร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ และจะก่อให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน เนื่องจาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยยังคงมีกำลังอ่อน จากนั้นในช่วงครึ่งหลังของเดือน ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง กับจะมีฝนหนักถึงหนักมากในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทย จะกลับมามีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณตอนบนของทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สรุปเดือนนี้ คาดว่าปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่จะใกล้เคียงถึงมากกว่าค่าปกติเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 เว้นแต่ ภาคเหนือ ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10 และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยยังคูงสูงกว่าค่าปกติ
ออกประกาศ 01 กรกฎาคม 2568