อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมประชุมระดับภูมิภาคของสมาคมภูมิภาค II (เอเชีย) เสริมความร่วมมือประเทศสมาชิก รับทราบยุทธศาสตร์ WMO และหารือแนวทางการเตือนภัยล่วงหน้าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมประชุมระดับภูมิภาคของสมาคมภูมิภาค II (เอเชีย) ระหว่างวันที่ 13–16 มีนาคม 2566 ณ กรุงอาบู ดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเด็นเชิงเทคนิคและสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอุตุนิยมวิทยา ด้านอุทกวิทยา อากาศ และสภาพภูมิอากาศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการพยากรณ์อากาศระยะนานเพื่อนำไปพยากรณ์อุตุนิยมวิทยาอุทกภายในภูมิภาค รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และข่าวสารสำหรับการพยากรณ์อุตุนิยมวิทยาอุทก การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรระหว่างผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานในภูมิภาคและประเด็น รับทราบแผนยุทธศาสตร์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO : World Meteorological Organization) เพื่อนำไปในใช้ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานและการเตรียมการเพื่อจัดทำหรือปรับปรุงแผนงานด้าน Early Warning For All ที่มีความเข้มข้นในระดับโลกของกรมอุตุนิยมวิทยาให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันของทุกประเทศสมาชิกในภูมิภาค RA II ตลอดจนด้านการศึกษาวิจัย การรวบรวมองค์ความรู้ในสาขาต่าง ๆ ทั้งการวิจัยด้านพยากรณ์อากาศโลก การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การเฝ้าระวังชั้นบรรยากาศโลก การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาค RA II เพื่อเสริมสร้างและขยายกรอบงานวิจัย สนับสนุนความยืดหยุ่นด้านภัยพิบัติในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง
ทั้งนี้ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พบปะเพื่อประชุมหารือร่วมกับอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาอาร์เจนตินา และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาซาอุดิอาระเบีย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคนิคการการพยากรณ์อากาศ การให้บริการด้านภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตร และระบบนิเวศน์
โดยในช่วงการประชุม ดร. ชมภารี นำเสนอกระบวนการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศไทย พร้อมกล่าวถึงความพยายามที่จะนำเทคโนโลยี AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการตรวจอากาศด้วยเรดาร์ (Radar Nowcasting) ซึ่งเริ่มมีงานวิจัยและเทคนิคเผยแพร่บ้างแล้ว โดยกรมฯ เตรียมจัดหาทุนและแนวทางสำหรับการพัฒนาผลผลิตดังกล่าว สำหรับการพัฒนาการให้บริการ ปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการ Cell Broadcast ที่กรมฯ นำมาใช้สำหรับการเตือนภัยล่วงหน้าแก่ประชาชนว่ามีลักษณะเหมือนกับ SMS แต่ต่างกันที่เทคโนโลยีเบื้องหลังมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยข้อดีของ CB คือสามารถส่งข้อความจำนวนมากได้เร็วกว่า มีความแม่นยำในการส่งในพื้นที่ที่กำหนดมากกว่า อีกทั้งยังมีความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย คาดหมายว่าจะมีผลผลิตต้นแบบเกิดขึ้นในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้ด้วยความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี และการบริการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ชุมชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาในประเทศ ตลอดจนชุมชนอุตุนิยมวิทยาในภูมิภาคภายใต้กรอบการทำงานของ WMO
ข่าว : ปุญชรัสมิ์ ราศรี