สายด่วน อต. 1182
สายด่วน อต. 1182

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาให้สัมภาษณ์ ThaiPBS ประเด็นแผ่นดินไหวญี่ปุ่น โอกาสความเสี่ยงของไทย

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาให้สัมภาษณ์ ThaiPBS ประเด็นแผ่นดินไหวญี่ปุ่น โอกาสความเสี่ยงของไทย
วันที่ข้อมูล 04 มกราคม 2567

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 เวลา 11.00 น. นางสาวกรรวี  สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อธิบายเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่บริเวณใกล้ชายฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 7.5 เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2567 เวลา 14.10 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยกล่าวว่าเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน Noroshi Oki ที่มีลักษณะการเลื่อนตัวแบบรอยเลื่อนย้อน (Reverse Fault) ร่วมกับการเลื่อนตัวแบบแนวระนาบเหลื่อมขวา (Right Lateral Strike Slip Fault) เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศตั้งอยู่บริเวณแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้บ่อยครั้ง สำหรับ ประเทศไทยตั้งอยู่ในแผ่นเปลือกโลก จึงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้น้อยกว่า

 

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาให้ข้อมูลว่า ระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวของประเทศไทย ปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดจำนวน 71 สถานี สถานีตรวจวัดอัตราเร่งบนพื้นดิน 55 สถานี และสถานีตรวจวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก 13 สถานี สามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวในระดับภูมิภาคและระยะใกล้ได้ดี อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวขนาดเล็กในประเทศไทยโดยเฉพาะตามแนวรอยเลื่อนมีพลังยังไม่สามารถตรวจวัดได้แบบสมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการติดตั้งสถานีตรวจวัดเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีความร่วมมือการใช้ข้อมูลเครือข่ายแผ่นดินไหวร่วมกันทั้งภายในประเทศ ประกอบด้วย กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน และหน่วยงานระหว่างประเทศ ได้แก่ IRIS (Incorporated Research Institution for Seismology), ศูนย์วิจัยธรณีศาสตร์ของเยอรมนี (GFZ : German Research Centre for Geosciences) และ CTBTO (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization) รวมประมาณ 486 สถานี

 

แผ่นดินไหวที่สามารถก่อให้เกิดสึนามิได้ต้องมีศูนย์กลางอยู่ในทะเล ขนาด 6.5 ขึ้นไป และมีความลึกน้อยกว่า 100 กิโลเมตร รวมทั้งต้องเกิดจากรอยเลื่อนย้อน (Reverse Fault) สำหรับการแจ้งข่าวโอกาสการเกิดสึนามิที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จะใช้ (1) การวิเคราะห์แผ่นดินไหวจากสถานีตรวจวัดที่เป็นเครือข่ายทั่วโลก บริเวณทะเลอันดามันจะใช้ขนาด 6.6 ขึ้นไปที่ความลึกน้อยกว่า 100 กิโลเมตร (คลื่นสึนามิใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาทีถึงประเทศไทยหลังเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดใกล้ที่สุด) ส่วนบริเวณอ่าวไทยจะใช้ขนาด 7.8 ขึ้นไปที่ความลึกน้อยกว่า 100 กิโลเมตร (คลื่นสึนามิใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-6 ชั่วโมง ถึงประเทศไทยหลังเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดใกล้ที่สุด) ประกอบกับ (2) การวิเคราะห์ข้อมูลการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนว่ามีการยกตัวของพื้นทะเลหรือไม่ โดยในการตรวจสอบว่าเกิดสึนามิขึ้นจริงจะใช้การเฝ้าระวังระดับน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงจากสถานีวัดระดับน้ำที่อินโดนีเซียเป็นหลัก เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดสึนามิ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาสามารถแจ้งเตือนประชาชนหากเกิดสึนามิได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 22 นาที ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามรายงานแผ่นดินไหวได้ที่เว็บไซต์ https://earthquake.tmd.go.th/announce.html