ปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยทั้งปี 28.1 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยในคาบ 30 ปี (พ.ศ.2534-2563) หรือค่าปกติ 0.7 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 1 ของประเทศไทยในรอบ 73 ปี (พ.ศ.2494-2566) และสูงเท่ากับสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดของประเทศที่เคยตรวจวัดได้เมื่อปี 2562 และเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่าปีนี้มีอุณหภูมิสูงกว่าปีที่ผ่านมาชัดเจน (ปี 2565 มีอุณหภูมิเฉลี่ย 27.4 องศาเซลเซียส) และปีนี้บริเวณประเทศไทยมีฝนน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณฝนรวมตลอดปีต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉลี่ยทั้งประเทศมีปริมาณฝนรวมตลอดปี 1,520.6 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าปกติ 102.3 มิลลิเมตร หรือประมาณร้อยละ 6 และต่ำกว่าปีที่ผ่านมา (ปี 2565 มีปริมาณฝน 2012.0 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดลำดับที่ 2 ของประเทศและสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 24.0)
ปีนี้ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่หรือเคลื่อนผ่านประเทศไทย อย่างไรก็ตามมีพายุที่เคลื่อนเข้ามาใกล้หรือสลายตัวใกล้กับประเทศไทยจำนวน 3 ลูก ได้แก่ พายุไซโคลน “โมคา (MOCHA,01B)” ที่เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเมียนมาในเดือนพฤษภาคม พายุโซนร้อน “ตาลิม (TALIM,2304)” ที่เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้และเคลื่อนผ่านชายฝั่งประเทศจีนเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนในเดือนกรกฎาคม และพายุดีเปรสชันที่เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในเดือนกันยายน ซึ่งอิทธิพลจากพายุดังกล่าวเหล่านี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีปริมาณและการกระจาย ของฝนเพิ่มขึ้นและมีรายงานน้ำท่วมในหลายพื้นที่กับมีรายงานน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มบางพื้นที่ในช่วงดังกล่าว