Link Copied
สรุปสภาวะอากาศทั่วไปในรอบปี
พ.ศ. 2560พ.ศ. 2560 เป็นปีที่สภาวะอากาศของประเทศไทยมีความผันแปรผิดไปจากปกติมาก กล่าวคือปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยในปีนี้สูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 27 และมีค่าสูงที่สุดในคาบ 67 ปี(พ.ศ.2494-2560) โดยมีหลายสถานีที่มีปริมาณฝนมากที่สุดใน 1 วัน ปริมาณฝนรวมตลอดเดือนและปริมาณฝนรวมตลอดปีสูงกว่าสถิติเดิมที่เคยตรวจวัดได้ เนื่องจากเกือบทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบตลอดปี โดยฤดูฝนปีนี้เริ่มต้นตามปกติแต่สิ้นสุดช้ากว่าปกติประมาณ 1 สัปดาห์และมีฝนตกต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งฤดู อีกทั้งนอกฤดูฝนซึ่งปกติจะมีฝนน้อยแต่ในปีนี้มีฝนมากผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนมกราคมและธันวาคมบริเวณประเทศไทยตอนบนซึ่งอยู่ในช่วงฤดูหนาวพื้นที่ส่วนใหญ่มีฝนสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 130 – 600 ขณะเดียวกันภาคใต้ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝนมีฝนสูงกว่าค่าปกติมากที่สุดในเดือนมกราคม โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนสูงกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 982 และมีอุทกภัยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคใต้ในช่วงเดือนมกราคมและพฤศจิกายน นอกจากนี้ตลอดทั้งปีมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงในช่วงฤดูฝน จำนวน 3 ลูก โดยเคลื่อนเข้ามาขณะมีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน 2 ลูก คือพายุโซนร้อน “ตาลัส(TALAS,1704)” ซึ่งเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่าน ในวันที่ 17 กรกฎาคม และไต้ฝุ่น “ทกซูรี (DOKSURI,1719)” ซึ่งเคลื่อนเข้าบริเวณจังหวัดบึงกาฬ ในวันที่ 15 กันยายน ส่วนอีก 1 ลูกคือพายุโซนร้อน “เซกา(SONCA,1708)” เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดนครพนมในวันที่ 25 กรกฎาคมขณะมีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชัน อีกทั้งประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนที่ถึงแม้จะไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงแต่ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อนเคลื่อนเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยและบริเวณใกล้เคียง อีกจำนวน 8 ลูก ได้แก่พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนที่เคลื่อนผ่านประเทศเวียดนามตอนบนเข้ามาสลายตัวบริเวณประเทศลาวตอนบนในช่วงต้นเดือนตุลาคม และไต้ฝุ่น“ขนุน (KHANUN, 1720)” ที่เคลื่อนเข้ามาสลายตัวบริเวณอ่าวตังเกี๋ยในช่วงกลางเดือนตุลาคม จากนั้นในเดือนพฤศจิกายนไต้ฝุ่น “ด็อมเร็ย (DAMREY, 1723)” ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศกัมพูชาในวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยในเวลาใกล้เคียงกันมีพายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยจำนวน 2 ลูกที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้วเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคใต้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนและพายุโซนร้อน “คีโรกี (KIROGI, 1725) ” ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อนเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศกัมพูชาและอ่าวไทยตอนบนในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พายุโซนร้อน “ไคตั๊ก” (KAI-TAK, 1726)ที่เคลื่อนเข้ามาสลายตัวบริเวณประเทศมาเลเซีย และไต้ฝุ่น “เท็มบิน”(TEMNIN,1727)ที่อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้วเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวไทยในช่วงปลายเดือนธันวาคม จากฝนที่มากผิดปกตินอกฤดูฝนส่งผลให้ในช่วงฤดูหนาวประเทศไทยมีอุณหภูมิลดต่ำลงจนมีอากาศหนาวเป็นช่วงๆ ส่วนมากในเดือนมกราคมและธันวาคม อย่างไรก็ตามอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยและอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวสูงกว่าค่าปกติ เว้นแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีฝนและอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ ส่วนในช่วงฤดูร้อนเริ่มต้นช้ากว่าปกติประมาณ 2 สัปดาห์ โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคมและสิ้นสุดกลางเดือนพฤษภาคมตามปกติ ตลอดทั้งฤดูร้อนปีนี้มีอากาศไม่ร้อนมากนักและมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยและอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงเดือนเมษายนต่ำกว่าค่าปกติในเกือบทุกภาค ส่วนฤดูฝนมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติเกือบตลอดฤดู ส่งผลให้ปีนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 0.4 องศาเซลเซียสแต่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2559 สูงกว่าค่าปกติ 1.0 องศาเซลเซียส)
ออกประกาศ 01 กุมภาพันธ์ 2560 17:21 น.