Link Copied
อุทกภัย
1. อะไรเป็นสาเหตุของอุทกภัยในประเทศไทย
อุทกภัยคือ ภัยและอันตรายที่เกิดจากสภาวะน้ำท่วมหรือน้ำท่วมฉับพลัน มีสาเหตุมาจากการเกิดฝนตกหนักหรือฝนต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องมาจาก
1.1 หย่อมความกดอากาศต่ำ
1.2 พายุหมุนเขตร้อน ได้แก่ พายุดีเปรสชั่น, พายุโซนร้อน, พายุใต้ฝุ่น
1.3 ร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำ
1.4 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
1.5 ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
1.6 เขื่อนพัง
2. ลักษณะของอุทกภัยเกิดได้อย่างไรบ้าง
ลักษณะของอุทกภัยมีความรุนแรง และรูปแบบต่าง ๆ กัน ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ และสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่โดยมีลักษณะดังนี้
2.1 น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน มักจะเกิดขึ้นในที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มบริเวณใกล้ภูเขาต้นน้ำ เกิดขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักเหนือภูเขาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้จำนวนน้ำสะสมมีปริมาณมากจนพื้นดิน และต้นไม้ดูดซับไม่ไหวไหลบ่าลงสู่ที่ราบต่ำ เบื้องล่างอย่างรวดเร็ว มีอำนาจทำลายร้างรุนแรงระดับหนึ่ง ที่ทำให้บ้านเรือนพังทลายเสียหาย และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
2.2 น้ำท่วม หรือน้ำท่วมขัง เป็นลักษณะของอุทกภัยที่เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก ที่ไหลบ่าในแนวระนาบ จากที่สูงไปยังที่ต่ำเข้าท่วมอาคารบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหาย หรือเป็นสภาพน้ำท่วมขัง ในเขตเมืองใหญ่ที่เกิดจากฝนตกหนัก ต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีสาเหตุมาจากระบบการระบายน้ำไม่ดีพอ มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ หรือเกิดน้ำทะเลหนุนสูงกรณีพื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล
2.3 น้ำล้นตลิ่ง เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำจำนวนมากที่เกิดจากฝนหนักต่อเนื่อง ที่ไหลลงสู่ลำน้ำ หรือแม่น้ำมีปริมาณมากจนระบายลงสู่ลุ่มน้ำด้านล่าง หรือออกสู่ปากน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมเรือกสวน ไร่นา และบ้านเรือนตามสองฝั่งน้ำ จนได้รับความเสียหาย ถนน หรือสะพานอาจชำรุด ทางคมนาคมถูกตัดขาดได้
3. เมื่อเกิดอุทกภัยอันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง
สามารถแบ่งอันตรายและความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยดังนี้
ความเสียหายโดยตรง
3.1 น้ำท่วมอาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างและสาธารณสถาน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก บ้านเรือนหรืออาคารสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงจะถูกกระแสน้ำที่ไกลเชี่ยวพังทลายได้ คนและสัตว์พาหนะและสัตว์เลี้ยงอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตจากการจมน้ำตาย
3.2 เส้นทางคมนาคมและการขนส่ง อาจจะถูกตัดเป็นช่วง ๆ โดยความแรงของกระแสน้ำ ถนน และสะพานอาจจะถูกกระแสน้ำพัดให้พังทลายได้ สินค้าพัสดุอยู่ระหว่างการขนส่งจะได้รับความเสียหายมาก
3.3 ระบบสาธารณูปโภค จะได้รับความเสียหาย เช่น โทรศัพท์ โทรเลข ไฟฟ้า และประปา ฯลฯ
3.4 พื้นที่การเกษตรและการปศุสัตว์จะได้รับความเสียหาย เช่น พืชผล ไร่นา ทุกประการที่กำลังผลิดอกออกผล อาจถูกน้ำท่วมตายได้ สัตว์พาหนะ วัว ควาย สัตว์เลี้ยง ตลอดจนผลผลิตที่เก็บกักตุน หรือมีไว้เพื่อทำพันธุ์จะได้รับความเสียหาย ความเสียหายทางอ้อม จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยทั่วไป เกิดโรคระบาด สุขภาพจิตเสื่อม และสูญเสียความปลอดภัยเป็นต้น
รูปที่ 1 อุทกภัยที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2543
4. วิธีปฏิบัติในการป้องกันตนเองและบรรเทาจากอุทกภัย กระทำได้อย่างไรบ้าง
4.1 การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิ์ภาพ ควรกำหนดผังเมือง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวเมือง ไม่ให้กีดขวางทางไหลของน้ำ กำหนดการใช้ที่ดินบริเวณพื้นที่น้ำท่วม ให้เป็นพื้นที่ราบลุ่มรับน้ำ เพื่อเป็นการหน่วงหรือชะลอการเกิดน้ำท่วม
4.2 การออกแบบสิ่งก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ให้มีความสูงเหนือระดับที่น้ำเคยท่วมแล้ว เช่น บ้านเรือนที่ยกพื้นสูงแบบไทย ๆ เป็นต้น
4.3 การเคลื่อนย้ายวัสดุจากที่ที่จะได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากน้ำท่วม ให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัยหรือในที่สูง
4.4 การนำถุงทรายมาทำเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำท่วม
4.5 การพยากรณ์และการเตรียมภัยน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียม ป้องกัน
4.6 การสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ และถนน เพื่อเป็นการกักเก็บน้ำหรือเป็นการกั้นทางเดิน ของน้ำ เป็นต้น
5.สถิติอุทกภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีที่ใดและเกิดขึ้นเมื่อไรในอดีตมีอุทกภัยหลายเหตุการณ์
5.1 อุทกภัยจากพายุอีรา เข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2533 สรุปความเสียหายได้ดังนี้
ถนนเสียหาย 3,891 สาย
สะพานถูกทำลาย 332 แห่ง
เหมือง ฝาย 242 แห่ง
โรงเรียน 43 แห่ง
วัด 17 แห่ง
พื้นที่เกษตรกรรม 4,133,281 ไร่
มูลค่าความเสียหาย 6,011,353,756 บาท
5.2 อุทกภัยจากพายุดีเปรสชั่น เข้าประเทศไทย ที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 สรุปความเสียหายได้ดังนี้
ประชาชนประสบภัย 377,070 คน
ตาย 23 คน
อพยพราษฎร 16,487 คน
บาดเจ็บ 252 คน
บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 2,180 คน
พื้นที่การเกษตรเสียหาย 701,483 ไร่
ปศุสัตว์ 403,090 ตัว
ถนนเสียหาย 4,231 แห่ง
ฝาย-ทำนบเสียหาย 135 แห่ง
สะพานชำรุด 479 แห่ง
สาธารณประโยชน์อื่น ๆ 972 แห่ง
มูลค่าความเสียหายรวม 1,260,940,725 บาท
5.3 อุทกภัยจากพายุซีตา เคลื่อนผ่านประเทศเวียดนามตอนบน และประเทศลาวเข้าสู่ประเทศพม่า ใกล้กับภาคเหนือของประเทศไทย ช่วงวันที่ 23-24 สิงหาคม 2540 สรุปความเสียหายได้
ประชาชนประสบภัย 799,274 คน
ตาย 49 คน
สูญหาย 2 คน
บาดเจ็บ 395 คน
บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 4,627 หลัง
บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 519 หลัง
ถนนเสียหาย 4,218 แห่ง
ฝาย-ทำนบเสียหาย 622 แห่ง
สะพานชำรุด 610 แห่ง
สาธารณประโยชน์ 2,425 แห่ง
มูลค่าความเสียหายรวม 2,944,750,817 บาท
5.4 อุทกภัยและวาตภัย เนื่องจากพายุลินดาเข้าประเทศไทยที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 สรุปความเสียหายได้ดังนี้
ประชาชนประสบภัย 461,263 คน
ตาย 9 คน
สูญหาย 2 คน
บาดเจ็บ 20 คน
บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 9,248 หลัง
ถนนเสียหาย 1,223 แห่ง
ฝาย-ทำนบเสียหาย 40 แห่ง
สะพานชำรุด 20 แห่ง
สาธารณประโยชน์ 58 แห่ง
มูลค่าความเสียหายรวม 213,054,675 บาท
5.5 อุทกภัยที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากฝนตกหนัก ในช่วง 20-22 พฤศจิกายน 2543 สรุปความเสียหายดังนี้
ประชาชนประสบภัย 552,579 คน
ตาย 26 คน
มูลค่าความเสียหายรวม 1,961,899,075 บาท
รูปที่ 2 ความเสียหายจากพายุลินดาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540
6. เมื่อได้รับคำเตือนเรื่อง อุทกภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา ควรปฏิบัติตนอย่างไร
ก่อนเกิดอุทกภัยควรปฏิบัติดังนี้
1. เชื่อฟังคำเตือนอย่างเคร่งครัด
2. ติดตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง
3. เคลื่อนย้ายคน สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย และสิ่งของไปอยู่ในที่สูง ซึ่งเป็นที่พ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน
4. ทำคันดินหรือกำแพงกั้นน้ำโดยรอบ
5. เคลื่อนย้ายพาหนะ เช่น รถยนต์หรือล้อเลื่อนไปอยู่ที่สูง หรือทำแพสำหรับที่พักรถยนต์ อาจจะใช้ถังน้ำขนาด 200 ลิตร ผูกติดกันแล้วใช้กระดานปูก็ได้
6. เตรียมกระสอบใส่ดินหรือทราย เพื่อเสริมคันดินที่กั้นน้ำให้สูงขึ้น เมื่อระดับน้ำขึ้นสูงท่วมคันดินที่สร้างอยู่
7. ควรเตรียมเรือไม้ เรือยาง หรือแพไม้ไว้ใช้ด้วย เพื่อใช้เป็นพาหนะในขณะน้ำท่วมเป็นเวลานาน เรือเหล่านี้สามารถช่วยชีวิตได้เมื่ออุทกภัยคุกคาม
8. เตรียมเครื่องมือช่างไม้ ไม้กระดาน และเชือกไว้บ้างสำหรับต่อแพ เพื่อช่วยชีวิตในยามคับขัน เมื่อน้ำท่วมมากขึ้น จะได้ใช้เครื่องมือช่างไม้เปิดหลังคารื้อฝาไม้ เพื่อใช้ช่วยพยุงตัวในน้ำได้
9. เตรียมอาหารกระป๋อง หรืออาหารสำรองไว้บ้าง พอที่จะมีอาหารรับประทานเมื่อน้ำท่วมเป็นระยะเวลาหลาย ๆ วัน อาหารย่อมขาดแคลนและไม่มีที่หุงต้ม
10. เตรียมน้ำดื่มเก็บไว้ในขวดและภาชนะที่ปิดแน่น ๆ ไว้บ้าง เพราะน้ำที่สะอาดที่ใช้ตามปกติขาดแคลนลง ระบบการส่งน้ำประปาอาจจะหยุดชะงักเป็นเวลานาน
11. เตรียมเครื่องเวชภัณฑ์ไว้บ้างพอสมควร เช่น ยาแก้พิษกัดต่อยแมลงป่อง ตะขาบ งู และสัตว์อื่น ๆ เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมพวกสัตว์มีพิษ เหล่านี้จะหนีน้ำขึ้นมาอยู่บนบ้านและหลังคาเรือน
12. เตรียมเชือกมนิลามีความยาวไม่น้อยกว่า 10 เมตร ใช้ปลายหนึ่งผูกมัดกับต้นไม้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ในกรณีที่กระแสน้ำเชี่ยว และคลื่นลูกใหญ่ซัดมากวาดผู้คนลงทะเล จะช่วยไม่ให้ไหลลอยไปตามกระแสน้ำ
13. เตรียมวิทยุที่ใช้ถ่านไฟฉาย เพื่อไว้ติดตามฟังรายงานข่าวลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
14. เตรียมไฟฉาย ถ่านไฟฉาย และเทียนไข เพื่อไว้ใช้เมื่อไฟฟ้าดับ
ขณะเกิดอุทกภัยควรตั้งสติให้มั่นคง อย่าตื่นกลัวหรือตกใจ ควรเตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ด้วยความสุขุม รอบคอบ และควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ตัดสะพานไฟ และปิดแก๊สหุงต้มให้เรียบร้อย
2. จงอยู่ในอาคารที่แข็งแรง และอยู่ในที่สูงพ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน
3. จงทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
4. ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก
5. ไม่ควรเล่นน้ำหรือว่ายน้ำเล่นในขณะน้ำท่วม
6. ระวังสัตว์มีพิษที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้าน และหลังคาเรือนกัดต่อย เช่น งู แมลงป่อง ตะขาบ เป็นต้น
7. ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น สังเกตลมฟ้าอากาศ และติดตามคำเตือนเกี่ยวกับ ลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
8. เตรียมพร้อมที่จะอพยพไปในที่ปลอดภัยเมื่อสถานการณ์จวนตัว หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ
9. เมื่อจวนตัวให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตมากกว่าห่วงทรัพย์สมบัติ
หลังอุทกภัย เมื่อระดับน้ำลดลงจนเป็นปกติ การบูรณะซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ จะต้องเริ่มต้นทันที่งานบูรณะต่าง ๆ เหล่านี้จะประกอบด้วย
1. การขนส่งคนอพยพกลับยังภูมิลำเนาเดิม
2. การช่วยเหลือในการรื้อสิ่งปรักหักพัง ซ่อมแซมบ้านเรือนที่หักพัง และถ้าบ้านเรือนที่ถูกทำลายสิ้น ก็ให้ได้รับความช่วยเหลือในการจัดหาที่พักอาศัยและการดำรงชีพชั่วระยะหนึ่ง
3. การกวาดเก็บขนสิ่งปรักหักพังทั่วไป การทำความสะอาดบ้านเรือน ถนนหนทางที่เต็มไปด้วยโคลนตม และสิ่งชำรุดเสียหายที่เกลื่อนกลาดอยู่ทั่วไปกลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
4. ซ่อมแซมบ้านเรือนอาคาร โรงเรียนที่พักอาศัย สะพานที่หักพังชำรุดเสียหาย และที่เสียหายมากจนไม่อาจซ่อมแซมได้ ก็ให้รื้อถอนเพราะจะเป็นอันตรายได้
5. จัดซ่อมทำเครื่องสาธารณูปโภค ให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด เช่น การไฟฟ้า ประปา โทรเลข โทรศัพท์
6. ภายหลังน้ำท่วมจะมีซากสัตว์ตาย ปรากฏในที่ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องจัดการเก็บฝังโดยเร็ว สัตว์ที่มีชีวิตอยู่ซึ่งอดอาหารเป็นเวลานาน ให้รีบให้อาหารและนำกลับคืนให้เจ้าของ
7. ซ่อมถนน สะพาน และทางรถไฟที่ขาดตอนชำรุดเสียหายให้กลับสู่สภาพเดิม เพื่อใช้ในการคมนาคมได้โดยเร็วที่สุด
8. สร้างอาคารชั่วคราวสำหรับผู้ที่อาศัย เนื่องจากถูกอุทกภัยทำลายให้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว
9. การสงเคราะห์ผู้ประสบอุทกภัย มีการแจกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และอาหารแก่ผู้ประสบภัย ความอดอยาก ความขาดแคลนจะมีอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งควรจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยบรรเทาทุกข์หรือมูลนิธิ และอีกประการหนึ่ง
10. ภายหลังอุทกภัย เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะทำให้เกิดเจ็บไข้และโรคระบาดได้